การถือกำเนิดของอาเธน่านั้น กล่าวกันว่า ครั้งหนึ่ง เทพซุส ได้รับคำทำนายว่า โอรสธิดา ที่ประสูติจากมเหสีเจ้าปัญญา นามมีทิส (Metis) นั้นจะ มาโค่นบัลลังก์ของพระองค์ เทพซุส ก็แก้ปัญหาด้วยการจับเอามีทิส ซึ่งทรงตั้งครรภ์แก่นั้นกลืนเข้าไปในท้อง แต่เวลาไม่นานนักซุสก็บังเกิดอาการปวดเศียรขึ้นมา ให้รู้สีกปวดร้าวเป็นกำลัง จึงมีเทวโองการสั่งให้เรียกประชุมเทพทั้งปวงบนเขาโอลิมปัส ให้ช่วยกันหาทางบำบัดเยียวยา แต่ความพยายามของทวยเทพก็ไม่เป็นผล ซุสไม่อาจทนความเจ็บปวดต่อไปได้ ในที่สุดจึงได้ให้เฮฟเฟสตุส เทพแห่งการตีเหล็ก ใช้ขวานผ่าศีรษะออก ปรากฏเป็นอาเธน่ากระโดดออกมาในลักษณะเจริญเต็มวัย แต่งฉลององค์หุ้มเกราะแวววาวพร้อมสรรพ ถือหอกเป็นอาวุธ พร้อมกันนั้นทั่วพื้นพสุธาและมหาสมุทร ก็บังเกิดอาการสั่นสะเทือนเลื่อนลั่น ประกาศกำเนิดเทวีองค์นี้สนั่นไปทั้งโลก
การอุบัติของเทวีองค์นี้ถือว่าเป็นไปเพื่อยังสันติสุข ให้บังเกิดในโลกและขจัดความโฉดเขลาที่ครองโลก จนตราบเท่าบัดนั้นให้สิ้นไป ด้วยว่าพออาเธน่าผุดจากเศียรซุส เทวีแห่งความโฉดเขลาซึ่งไม่ปรากฏรูปก็ล่าหนีไป ด้วยเหตุนี้เทวีอาเธน่าจึงเป็นที่นับถือบูชาในฐานะเทวีครองปัญญา นอกจากนั้นอาเธน่ายังมีฝีมือในการเย็บปักถักร้อย และ เชื่อว่าพระนางเป็นเทพีแห่งสงครามด้วย เนื่องจากเทวรูปของพระนาง มักปรากฏเป็นรูปผู้หญิงสวมชุดเกราะ ถือโล่ห์ และหอกที่มือซ้าย พร้อมถือ เทพีไนกี้ เทพีแห่งชัยชนะที่มือขวา
ภายหลังการอุบัติของอาเธน่าไม่นาน มีหัวหน้าชนชาวฟีนิเชียคนหนึ่งชื่อว่า ซีครอบส์ (Cecrop) พาบริวารอพยพเข้าไปในประเทศกรีซ เลือกได้ชัยภูมิอันตระการตาแห่งหนึ่งในแคว้น อัตติกะ (Attica) ตั้งภูมิลำเนา ก่อสร้างบ้านเรือนขึ้นเป็นนครอันสวยงามนครหนึ่ง เทพทั้งปวงเฝ้าดูงานสร้างเมืองนี้ด้วยความเลื่อมใสยิ่ง ในที่สุดเมื่อเห็นว่า เมืองมีเค้าจะกลายเป็นนครอันน่าอยู่ขึ้นมาแล้ว เทพแต่ละองค์ต่างก็แสดงความปรารถนา ใคร่จะได้เอกสิทธิ์ตั้งชื่อนคร จึงประชุมกันถกถึงเรื่องนี้ เมื่อมีการอภิปรายโต้แย้งกันพอสมควรแล้ว เทพส่วนใหญ่ในที่ประชุมก็พากันยอมสละสิทธิ์ คงเหลือแต่ เทพโปเซดอน และเทวีอาเธน่า 2 องค์เท่านั้นยังแก่งแย่งกันอยู่
เพื่อยุติปัญหาว่าใครควรจะได้เอกสิทธิ์ตั้งชื่อนคร เทพซุส ไม่พึงประสงค์จะชี้ขาดโดยอำนาจตุลาการที่จะพึงใช้ได้ ด้วยเกรงว่าจะเป็นที่ครหาว่าเข้า ข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง จึงมีเทวโองการว่านครนั้น พึงอยู่ในความคุ้มครอง ของเทพ หรือเทวี ซึ่งสามารถเนรมิตของที่มีประโยชน์ที่สุดให้มนุษย์ใช้ได้ และมอบหน้าที่ตัดสินชี้ขาดให้แก่ที่ประชุม
เทพโปเซดอน เป็นฝ่ายเนรมิตก่อน โดยยกตรีศูลคู่หัตถ์ขึ้นกระแทกลงกับพื้น บันดาลให้มีม้าตัวหนึ่งผุดขึ้นท่ามกลางเสียงแสดงความพิศวง และชื่นชมของเหล่าเทพ เมื่อเทพผู้เนรมิตม้า อธิบายคุณประโยชน์ของม้า ให้เป็นที่ตระหนักแก่เทพทั้งปวงแล้ว เทพองค์ต่างๆ ก็คิดเห็นว่า เทวีอาเธน่าคงไม่สามารถเอาชนะ เทพโปเซดอนเสียเป็นแน่แล้ว ส่วนฝ่าย เทวีอาเธน่า ก็ได้เนรมิตต้นมะกอกต้นหนึ่งขึ้นมา และได้อธิบายถึงคุณประโยชน์ ของต้นมะกอก ที่มนุษย์จะเอาไปใช้ได้นานัปการ นับตั้งแต่ใช้เนื้อไม้ ผล กิ่งก้าน ไปจนถึงใบ พร้อมกับยังมีความหมายเชิงสัญลักษณ์ของมะกอกว่า เป็นเครื่องหมายถึงสันติภาพและความรุ่งเรืองวัฒนาอีกด้วย เมื่อผลเป็นดังนั้นจึงเป็นที่พึงประสงค์ ยิ่งกว่าม้า ซึ่งเป็นเครื่องหมายของสงคราม หลังจากพิจารณาแล้ว มวลเทพก็เห็นพ้องต้องกันว่า ของที่เทพีอาเธน่าเนรมิต มีประโยชน์กว่า จึงลงมติตัดสินชี้ขาดให้เป็นฝ่ายชนะ
เพื่อเป็นเครื่องระลึกถึงชัยชนะครังนี้ เทพีอาเธน่าได้ตั้งชื่อนครนั้น ตามนามของท่านเองว่า เอเธนส์ (Athens ) และสืบจากนั้นมา ชาวกรุงเอเธนส์ ก็นับถือบูชาท่านในฐานะเทวีผู้ปกครองนครอย่างแน่นแฟ้น
โดยรวม ๆ แล้ว อาเธน่าเป็นเทพธิดาที่มีจิตใจเอื้ออารีชอบช่วยเหลือผู้อื่นมาก ในมหากาพย์อีเลียด ที่ว่าด้วยสงคราม แห่งชาวกรีก และ ชาวเมืองทรอย อาเธน่า ก็มีบทบาทในการช่วยวีรบุรุษกรีกหลายครั้ง เช่น หลอกเฮกเตอร์ว่าจะคอยช่วย และให้มาสู้กับอคิลลิส ทำให้เฮกเตอร์ถูกอคิลลิสสังหารอย่างโหดเหี้ยมในสนามรบ เป็นต้น
และในมหากาพย์โอดิสซีที่กล่าวถึงการเดินทางกลับบ้านที่อิธาก้าของ โอดิสซีอุส หรือ ยูลิซีส วีรบุรุษกรีก ผู้คิดสร้างม้าไม้ ซึ่งเป็นผู้ทำให้สงครามเมืองทรอยสิ้นสุดลง ต้องใช้เวลาในการเดินทางกลับบ้านเป็นเวลาถึงยี่สิบปี เพราะเขาไปทำให้โปเซดอนพิโรธ อาเธน่าก็เป็นเทพีอุปถัมภ์ของโอดิสซีอุส ช่วยให้เขาพ้นภัยหลายครั้งจนกลับถึงบ้านได้
เทพธิดาที่แสนดีก็พร้อมจะโหดได้ หากมีใครไปหยามเข้า เช่น เรื่องของนางอาแรคนี (Arachne) ซึ่งมีฝีมือทอผ้า และปั่นด้ายเป็นเลิศ ด้วยความลุ่มหลงทะนงตนสำคัญว่าไม่มีผู้ใดอีกแล้ว จะมีฝีมือเสมอกับนาง ในที่สุดจึงกำเริบคุยฟุ้งเฟื่องไปว่า ถึงแม้เทพีเอเธน่าจะลงมาประกวดฝีมือกับนาง นางก็ยินดีจะสู้ด้วยไม่รอช้าเลย นางโอ้อวดดังนี้เนือง ๆ จนเทพีเอเธน่าสุดแสนจะทนต่อไปได้ ต้องลงมาจากเขาโอลิมปัส เพื่อมาลงโทษนางอาแรคนีมิให้ใครเอาไปเป็นเยี่ยงอย่างสืบไป โดย เทพีอาเธน่าจำแลงองค์เป็นยายแก่ เดินเข้าไปในบ้านของนางอาแรคนี และนั่งลงชวนคุย นางอาแรคน ก็ได้คุยถึงฝีมือตน และเริ่มโวเรื่องจะแข่งขัน ประกวดฝีมือกับเทพีเอเธน่าอีก เทพีอาเธน่าตักเตือนโดยให้นางยับยั้งคำไว้เสียบ้าง กลัวว่าคำของนางซึ่งพูดเอาเองเป็นเหตุให้เทพเจ้าขัดเคือง จะทำให้นางเคราะห์ร้าย แต่นางอาแรคนีมีจิตมืดมนไปในความทรนงตนเสียแล้ว จนไม่แยแสต่อคำตักเตือน กลับพูดสำทับว่า นางอยากให้เทพีอาเธน่าได้ยิน และลงมาท้าประกวดฝีมือเสียด้วยซ้ำ นางจะได้แสดงความสามารถให้เป็นที่ประจักษ์เพื่อพิสูจน์ว่า คำกล่าวอ้างของนางเป็นความจริงเพียงใด ในที่สุดเทพีอาเธน่าก็สำแดงองค์ให้ปรากฏแก่อาแรคนี ตามจริง และรับคำท้านั้นทันที ในที่สุดอาแรคนี ก็แพ้แก่เทพีอาเธน่า และได้เสียใจยิ่งนัก ทั้งเจ็บทั้งอาย ในความผิดพลาดของตนไม่อาจทนอยู่ได้ หมายจะเอาเชือกผูกคอตาย เทพีเอเธน่าเห็นนางจะด่วนหนีโทษทัณฑ์ไป จึงรีบแปรเปลี่ยนร่างของนางให้กลายเป็นแมงมุม ห้อยโหนโตงเตง และสาปให้นางต้องปั่น และ ทอใยเรื่อยไปไม่มีเวลาหยุด เป็นการเตือนมนุษย์ ผู้ทรนงทั้งปวง มิให้หลงไปว่าตนจะเทียมเทพได้เป็นอันขาด
เกี่ยวกับการครองความบริสุทธิ์ของเทพีอาเธน่า มีเรื่องเล่าว่า เทพฮีฟีสทัส หมายปองเทพีอาเธน่า ใคร่จะได้วิวาห์ด้วย ได้ทูลขอต่อเทพบิดา เทพบิดาประทานโปรดอนุญาต แต่ให้ฮีฟีทัสทาบทามความสมัครใจของเทพีอาเธน่าเอาเอง ซึ่งผลลัพธ์ก็คือ เทพีอาเธน่าไม่ตกลงด้วย ทำให้ฮีฟีสทัส เข้าไปหา เทพีอาเธน่า หมายจะรวบรัด ในระหว่างที่ฉุกละหุกอุตลุดนั้นของไม่บริสุทธิ์ของฮีฟีทัส ตกลงมายังพื้นโลก เป็นเหตุให้เกิดทารก ผุดขึ้นมาเป็นเพศชาย เทพีอาเธน่ารอดพ้นมลทินแปดเปื้อน แต่รับทารกไว้ในปกครอง เอาทารกบรรจุหีบให้งูเฝ้า และฝากไว้ให้ลูกสาวท้าวซีครอปส์ดูแล โดยห้ามเด็ดขาด มิให้เปิดหีบดู แต่ลูกสาวท้าวซีครอปส์ไม่เชื่อฟัง พยายามจะเปิดหีบ ครั้นเห็นงูเข้าก็ตกใจวิ่งหนีตกเขาตาย ทารกนั้นได้ขนานนามว่า อิริคโธเนียส (Erichthonius) และ ดำรงชีวิตอยู่สืบมา จนภายหลังได้ครองกรุงเอเธนส์ ส่วนเทพีอาเธน่าก็ไม่ได้รับการเกี้ยวพาราสี ของเทพองค์หนึ่งองค์ใดอีกต่อไปตั้งแต่บัดนั้น
แม้ว่าจะมีบางตำนานกล่าวว่า อาเธน่าเคยแอบรักบุรุษรูปงามคนหนึ่งชื่อว่า เบลเลอโรฟอน จนถึงกับเอาอานม้าทองคำมาให้เขาในความฝัน เนื่องจากเบลเลอโรฟอนต้องการขี่ม้าวิเศษ เปกาซัส แต่ไม่ปรากฏว่าเทพีอาเธน่าได้สานเรื่องราวระหว่าง เทพีอาเธน่า กับเบลเลอโรฟอนต่อไปแต่อย่างใด แต่ทว่าบุรุษหนุ่มผู้นั้นตกม้าตายในตอนหลัง เทวีอาเธน่ามีต้นโอลีฟเป็นพฤกษาประจำตัว และนกฮูกเป็นนกคู่ใจ
เทพีอาเธน่านอกจากจะมีชื่ออาเธน่า หรือ มิเนอร์วาแล้ว ชาวกรีกและโรมันยังรู้จักกันในชื่ออื่น ๆ อีกหลายชื่อ ในจำนวนนี้มีชื่อที่แพร่หลายที่สุดคือ พัลลัส (Pallas) จนบางที เรียกควบกับชื่อเดิมว่า พัลลัสอาเธน่า ว่ากันว่ามูลเหตุของชื่อนี้สืบเนื่องมาจากพฤติกรรมตอนปราบยักษ์ชื่อ พัลลัส ซึ่งไม่ปรากฏตำนานชัดแจ้ง อาศัยเหตุที่ได้ถลก หนังยักษ์มาคลุมองค์ คนทั้งหลายเลยพลอยเรียกในชื่อของยักษ์นั้นด้วย และเรียกรูปประติมา หรือ อนุสาวรีย์ อันเป็นเครื่องหมายถึงเทพีอาเธน่า ว่า พัลเลเดียม (Palladium) ในที่สุดคำว่า Palladium ก็มีที่ใช้ใน ภาษาอังกฤษ หมายถึง ภาวะ หรือ ปัจจัยที่อำนวยความคุ้มครอง หรือ ความปลอดภัยให้เกิดแก่ชุมชน ทำนอง Palladium ที่ชาวโรมัน อารักขาไว้ในวิหารเวสตา
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น